พืชพรรณแห่งเขาสก
บัวผุด
ปาล์มเจ้าเมืองถลาง
ปาล์มเจ้าเมืองถลาง หรือ ปาล์มชิงหลังขาว พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งพบเพียง 2-3 แห่ง บริเวณเนินป่าดิบชื้น แถบอุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว จังหวัดภูเก็ต และอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว ขนาดกลาง สูง 5-7 เมตร เป็นไม้พื้นล่างของป่าขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ลักษณะเด่น ปาล์มเจ้าเมืองถลาง หรือ ปาล์มชิงหลังขาว จะมีก้านใบยาวได้ถึง 2 เมตร สีม่วงคล้ำเกือบดำ ก้านใบเรียบไม่มีหนาม แผ่นใบด้านข้างกลมแผ่ออก ตัวใบสีเขียวเข้ม ใต้ใบสีขาวเหมือนมีผงชอล์กเคลือบอยู่ โดยส่วนโคนใบติดกันเป็นแผ่น ส่วนตอนปลายแยกเป็นอิสระเป็นใบย่อยๆ ละเอียด ปัจจุบันถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในต้นไม้สวยงามหายาก นิยมนำไปปลูกตามที่พักอาศัย
หมากพระราหู
เป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว อาจแตกกอได้ 3-5 ต้น ลักษณะเด่นคือไม่มีกาบใบ มีรกเป็นหนามแข็งสานกันหุ้มลำต้นไว้ แต่เมื่อลำต้นสูงขึ้นแผ่นรกนี้จะหลุดออก ใบเป็นรูปพัด เป็นพืชที่พบครั้งแรกที่ประเทศไทยเขาหินบริเวณเขาพระราหู อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันถูกระบุเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์
ชมพูสิริน
ชมพูสิริน หรือ เทียนสิรินธร เป็นพืชไม่มีเนื้อไม้วงศ์เทียน เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ดอกสีชมพู พบเฉพาะทางภาคใต้ที่ จ.กระบี่ และ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่หาดูได้ยาก เพราะขึ้นตามหน้าผาหินปูนที่ระดับความสูง 20-200 เมตร
รากพูพอน
เป็นรากแบบหนึ่ง ที่เกิดจากการปรับตัวของต้นไม้บางชนิดที่เกิดอยู่บริเวณริมน้ำ อยู่ในพื้นที่ที่มีดินตื้น หรืองอกอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ที่ซึ่งรากแก้วไม่สามารถชอนไชลงไปในดินได้ ต้นไม้จึงมีการปรับตัวให้รากเปลี่ยนแปลงรูปร่างให้มีลักษณะเป็นแผงใหญ่ยื่นออกนอกลำต้นทางโคน ซึ่งติดกับรากแขนงของไม้ยืนต้น ซึ่งรากพูพอนจะช่วยดูดซับน้ำและช่วยลดแรงสั่นสะเทือนให้กับต้นไม้ เพื่อให้อยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมได้ นอกจากทำหน้าที่สำคัญในการพยุงลำต้นแล้ว พูพอนยังทำหน้าที่ดักเก็บเศษซากพืชซากสัตว์บนผิวดินที่จะย่อยสลายกลายเป็นแร่ธาตุให้กับต้นไม้ และช่วยกักและดูดซับธาตุอาหาร เนื่องจากเวลาฝนตกน้ำจะชะแร่ธาตุซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณผิวดินออกไป การที่มีพูพอนจะทำให้สามารถกักแร่ธาตุสารอาหารไม่ให้ไหลไปกับน้ำได้ รากพูพอนมีขนาดใหญ่ยักษ์ตั้งแต่ 5 ไปจนถึง 40 คนโอบ จึงทำให้เป็นหนึ่งในจุดสนใจที่ตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมป่าฝนแห่งนี้